'ปิ่นปักผม' กับความหมายลึกซึ้งที่มากกว่าเครื่องประดับ

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

‘ ปิ่นปักผม ‘ เครื่องประดับผมที่ไม่เพียงใช้ประโยชน์ได้จริงยังแฝงความสวยงาม และมากกว่านั้นคือ ‘ปิ่นปักผม’ ยังแฝงหน้าที่การสื่อความหมายที่ทำให้คุณค่าของปิ่นมีมากกว่าการเป็นเครื่องประดับ เช่นเดียวกับ ‘ ปิ่นกุสุมา ‘ ของท่านป้าหลี่ ในนิยายเรื่อง ‘ ชื่นกลิ่นกุสุมา ‘ ที่ไม่ได้เป็นเพียงปิ่นที่ทำหน้าที่ปักผมเท่านั้น

ในสังคมจีนโบราณ เด็กชายที่อยู่ในชาติตระกูลสูง เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจะมีพิธีสวมกวานหรือมงกุฎเล็ก ซึ่งจะใช้ปิ่นเสียบยึดไม่ให้เลื่อนหลุด ขณะที่ทางฝั่งเด็กหญิง ปิ่นปักผมถือว่ามีคามสำคัญมากอย่างคาดไม่ถึง เพราะปิ่นปักผมเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกว่าเธอกำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต เพราะเมื่อเด็กหญิงอายุครบ 15 ปี เด็กหญิงชาวจีนจะต้องเข้าสู่พิธีการเกล้าผมปักปิ่น เธอต้องเปลี่ยนทรงผมจากการถักเปียแบบเด็กๆ มาสู่การเกล้ามวยผม โดยจะต้องใช้ปิ่นเสียบลงไปในมวยผม ซึ่งไม่เพียงให้ปิ่นช่วยยึดเส้นผมไว้ไม่ให้หลุดรุ่ยและเพื่อเป็นเครื่องประดับผมให้สวยงาม การปักปิ่นนี้ยังเป็นการประกาศบอกหนุ่มๆ ด้วยว่า ดิฉันได้ก้าวเข้าสู่วัยสาวและพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าสาวแล้วนะจ้ะ

ในการแต่งงานของชาวจีนสมัยก่อนที่ยังมีการใช้แม่สื่ออยู่นั้น ในบางคู่จะมีการนำปิ่นปักผมของฝ่ายหญิงที่กำลังจะเป็นว่าที่เจ้าสาวมาหักเป็นสองส่วน โดยให้เจ้าตัวเก็บไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนที่เหลือ แม่สื่อจะเอาไปให้ว่าที่เจ้าบ่าว เมื่อถึงวันแต่งงานจะนำปิ่นสองชิ้นนี้มาแสดงเพื่อยืนยันว่าไม่ได้แต่งงานผิดคน และยังเป็นการสื่อว่าคือ การรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว

ขณะที่อีกวิถีปฏิบัติหนึ่งก็คือ เมื่อเจ้าสาวเซย์เยสจะแต่งงานกับหนุ่มคนไหน เธอก็จะดึงปิ่นที่ประดับผมของเธอมอบให้เจ้าบ่าวในพิธีหมั้น พอถึงพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวก็จะเอาปิ่นอันเดิมเสียบผมกลับไปให้เธอ

นอกจากนี้ถ้าหนุ่มๆ ปิ๊งสาวนางไหนก็จะมอบปิ่นปักผมเป็นของขวัญแทนใจให้เธอ แล้วยิ่งสวยก็ยิ่งมีความหมาย โดยเฉพาะการเลือกใช้ปิ่นสองขาที่จะหักปิ่นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้กับชายคนรักหรือสามีเก็บไว้ในยามต้องห่างไกล อีกส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เองและรอจนกว่าได้ครองคู่กันหรือกลับมาพบกัน จึงนำปิ่นมาต่อกันให้เป็นดังเดิม ซึ่งแน่นอนว่า การทำแบบนี้ก็เพื่อบอกว่า เวลามองปิ่นนี้ก็ขอให้หัวใจเธอคิดถึงฉันอะไรแบบนี้ ดังนั้น ปิ่นปักผมก็เลยเหมือนเป็นอีกหนึ่งของสื่อรักมัดใจ ของแทนใจที่หนุ่มสาวเขามอบให้กันนั่นเอง

ไม่เพียงหนุ่มสาวชาวจีนที่ให้ความสำคัญกับปิ่นปักผมเท่านั้น หนุ่มสาวชาวล้านนาก็ให้คุณค่ากับปิ่นปักผมมากกว่าการเป็นเครื่องประดับเช่นกัน โดยแต่เดิมหญิงสาวชาวล้านนาที่เกล้ามวยสูงจะนำดอกไม้สีสันสดใสที่มีกลิ่นหอมมาประดับมวยผม ภายใต้ความเชื่อว่าเป็นการบูขาขวัญบนกระหม่อม การประดับดอกไม้ที่ว่าก็เพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อก้มลงกราบบูชาพระ แต่เมื่อดอกไม้เหี่ยวเฉาง่ายจึงเปลี่ยนมาใช้ปิ่นปักผมแทน โดยวัสดุที่ใช้ทำปิ่นปักผมมีทั้งเงิน ทองเหลือง โลหะ รวมถึงหยก ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น ในปิ่นแต่ละอันยังประดับตกแต่งด้วยเพชร พลอย มุก ฯลฯ ที่ล้วนเป็นวัสดุที่มีมูลค่า

เมื่อรวมๆ แล้วปิ่นดังกล่าวไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก การเปลี่ยนผ่านช่วงวัย แต่ยังกลายเป็นสิ่งแสดงฐานะทางสังคมไปในตัวอีกทางด้วยเช่นกัน